วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดเกาะกลาง จ.เชียงใหม่ Kho Klang Temple Chiangmai






ข้าพเจ้าไปขอสัมภาษณ์ท่านเจ้าอาวาสปรากฎว่าท่านกำลังสร้างโครงประสาทไม้อยู่สุดลานวัด ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อจริงๆ ว่าท่านชอบงานทางนี้


วิหารเป็นของใหม่ สร้างในปี 2539 เนื่องจากบริเวณวัดอยู่ใกล้แม่น้ำปิง โครงสร้างเดิมของวิหารเป็นไม้ ปีหนึ่งน้ำท่วม 2-3 ครั้ง ทำให้วิหารหลังเก่ายุบตัวลง  ทางวัดได้บูรณะโดยถมดินสูงขึ้น2 เมตร และสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทั้งหมด ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าหลังจากสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สามารถป้องกันน้ำท่วมวัดได้จนถึงทุกวันนี้  วิหารน่าจะสร้างช่วงที่ตรงกับงานพืชสวนโลก
เกี่ยวกับช่างที่สร้างวิหารท่านว่าท่านไม่มีทุนทรัพย์จะจ้างช่างฝีมือดี ท่านจึงจ้างช่าง(สล่า)แล้วมาช่วยขัดเกลา ช่างใช้ถึง 3 ชุด ชุดแรกชื่อ ช่างสิทธิ์ ส่วนช่างชุดสุดท้ายมาจากเทคโนฯ เป็นช่างศิลปกรรมไม่ใช่ช่างปูนปั้นแต่ก็พอมีพื้นฐานมาบ้างแล้วจึงขัดเกลาต่อแต่ท่านบอกติดตลกว่า ต้องไม่กลัวความสูงและนั่งร้าน งานชิ้นแรกๆ หากไม่ดีก็ทุบและทำใหม่ ลองผิดลองถูกกับสูตรปูนปั้นจนได้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งช่างเหล่านี้ ปัจจุบันเป็นช่างฝีมือดีและมีชื่อเสียง เป็นโชคของข้าพเจ้าที่ได้สัมภาษณ์ท่านเจ้าอาวาสทำให้ทราบรายละเอียดทุกอย่างเนื่องจากท่านศึกษาค้นคว้าและดำเนินการทุกอย่างด้วยตัวท่านเอง ซึ่งท่านก็ให้ความรู้เป็นอย่างดี  
ลายสตายจิ๋น
อย่างเช่น สูตรปูนปั้นท่านว่า กว่าจะได้ปูนปั้นที่ไม่แตกและพอดีสำหรับปั้นโดยไม่แห้งช้าเกินไป สูตรปูนปั้นนี้สืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นและท่านก็ปรับเอาให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งถือว่าเป็นพรสวรรค์ของท่านจริงๆ ส่วนผสมที่ใช้ได้แก่ ปูนขาว กาวอีพอกซี่ ทรายละเอียด น้ำมันละหุ่ง น้ำมันละหุ่งแพงมากท่านว่าแต่ละร้านที่ซื้อมาคุณภาพไม่เหมือนกันซึ่งส่งผลให้ชิ้นงานแตกตัวเมื่อแห้งได้ ท่านบอกว่าเคยเอาสูตรของเมืองเพชรมาใช้เหมือนกันคือใช้หนังวัวหนังควายมาต้มแต่ท่านว่าเหนียวและแห้งช้าแถมแตกเป็นแผ่น ท่านว่าเกิดจากสภาพอากาศไม่เหมือนกัน กาวอีพอกซี่ เดิมใช้รักเป็นส่วนผสมแต่ปัจจุบันแพงและหายากแม้ว่ารักจะมีข้อดีซึ่งทำให้ชิ้นงานทนทานซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจริงๆ เนื่องจากลวดลายปูนปั้นในวัด ท่านนำตัวอย่างมาจากโบราณสถานทั้งสิ้นแล้วนำเอามาปรับใช้เป็นลวดลายของวัด  เช่นลายโบราณที่ เวียงกุมกาม วิหารลายคำ พระธาตุลำปางหลวง เจดีย์เก่าใกล้กับอนุสาวรีย์ช้างเผือก ส่วนปูนปั้นสูตรที่นิยมอีกแห่งคือสูตรของช่างประกอบ เป็นช่างพิการแขนด้วน 1 ข้าง แต่ได้สูตรมาจากศิลปาชีพบางไทร ซึ่งสูตรนี้มีคนนิยมนำมาใช้กันมาก คือใช้ปูน น้ำยากันซึม ทราย ข้อดีคือ เร็ว ใช้ช่างเพียงคนเดียวกันสามารถสร้างชิ้นงานได้ ข้อเสียคือไม่อยู่ตัว เพราะอ่อนเกินไป น่าเสียดายที่ปัจจุบันช่างประกอบเสียชีวิตไปแล้ว(น่าเสียดาย)
ส่วนผสมทั้งหมดใช้มอง(ครกโบราณของภาคเหนือ) ในการตำ โดยท่านประยุกต์เอาเครื่องยนต์จากรถไถมาใช้ในการตำจากเดิมที่ใช้แรงงานคนในการตำ 5 คน ต่อ 2 ชั่วโมง ปรากฏว่าใช้แรงงานคนเพียงคนเดียว (ข้าพเจ้าเคยเห็นช่างปูนปั้นวิหารวัดบุพผารามใช้เครื่องผสมปูนในการผสมปูนปั้นไม่รู้ว่าอะไรดีกว่ากัน)

ปัจจุบันนี้ช่างสิทธิ์เป็นช่างที่มีชื่อเสียง ตอนแรกเวลาช่างจะรับงานจะพามาดูที่วัดเกาะกลางซึ่งเป็นวัดที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการปั้นให้ก่อน ต่อมาเมื่อทำหลายๆวัดเข้าพอมีชื่อเสียงก็พาไปดูที่วัดสร้างใหม่ ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นและอยากรู้ว่าใครเป็นผู้สร้างจึงได้ทราบในตอนนี้ วัดที่ช่างสิทธิ์ทำลายปูนปั้นได้แก่ วัดธาตุคำ วัดชัยมงคล รวมทั้งวัดที่มีชื่อเสียงอย่างวัดมณเฑียรด้วยค่ะ ขณะนี้ช่างสิทธิ์กำลังสร้างวัดป่าแดดอยู่ค่ะ(ข้าพเจ้าเลยตามไปสัมภาษณ์ อ่านต่อที่วัดป่าแดดค่ะ) อย่างไรก็ตามช่างที่เป็นลูกศิษย์ของท่านก็มารดน้ำดำหัวท่านทุกปี 
ขอขอบคุณท่านพระอธิการ นิวัฒน์ กิตติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดเกาะกลางเป็นอย่างมากสำหรับข้อมูล ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่าใครเป็นผู้รังสรรค์งานปูนปั้นที่สวยงามของวัดในเชียงใหม่





















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น